scoops

การเลี้ยงดู

เลี้ยงรวม (2) การคัดปลาที่จะนำมาเลี้ยงรวม

การคัดปลาที่จะนำมาเลี้ยงรวม

ขนาดปลาก่อนจะเลี้ยงรวม ท่านต้องกำหนดขนาดปลาโดยรวมที่จะนำมาเลี้ยงก่อนนะครับว่า จะเอาขนาดไหนเป็นหลัก เป็นค่ามาตรฐาน จากนั้นจึงค่อยหาarowanaขนาดที่ใกล้เคียงกันมาลง(ต่างกันไม่ควรเกิน20%ของค่ามาตรฐานกลางจะดีมาก) การที่นำปลาขนาดต่างกันมากมาเลี้ยงรวมกันแน่นอนครับว่า ความเสี่ยงจะสูง ปลาควรมีขนาด 8 นิ้วขึ้นไปเพราะจะมีวุฒิภาวะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักหลบหลีก หรือ ไม่ปะทะกันแรงเกินไป

ความสวยและสายพันธุ์ของปลา ปลาที่จะนำมาเลี้ยงรวมไม่จำเป็นต้องสวยพอกัน เพราะลงไปแล้วเค้าจะทะเลาะกันเพื่อจัดความสวยในตู้ให้สมดุลกันไปเอง เอาแค่ว่าดูเป็นปลาที่สุขภาพแข็งแรงก็พอแล้ว หลายท่านคงอยากนำปลามีตำหนิมารวมซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาครับ แต่เหงือกที่ตัดควรจะต้องขึ้นเต็มก่อน ตามลำตัวไม่ควรมีแผล ปลาเกล็ดหลุดที่แผลหายแล้วแต่เกล็ดยังไม่ขึ้นเต็มลงได้ครับ เหงือกบานๆนี่ห้ามเอาลงนะครับ เพราะพรรคพวกอาจจะช่วยศัลยกรรมให้เองซึ่งอาจจะฉีกถึงเหงือกหลักได้

ปลาarowanaแดง ? อินโด ? มาเลย์-เรดบี-เขียว ? ทองอ่อน เอามารวมได้(จำนวนรวมไม่ควรต่ำกว่า 5 ) ครับ ออสเตรเลียอาจจะดุไปที่จะนำมาเลี้ยงรวม และ อโรเงินสามารถนำมาเลี้ยงรวมได้ครับแต่จะนับเป็น 1 ใน 5 ของขั้นต่ำได้ไหม อันนี้บอกตรงๆว่าไม่แน่ใจครับเพราะไม่เคยลอง

ที่ควรระวังคือ ปลาแดงมักจะเป็นปลาที่ดุที่สุดฉลาดที่สุดเอาแต่ใจที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีขนาดที่ใหญ่กว่าตัวอื่นมากเกินไป(รวมถึงปลาบางตัวที่ตอนเลี้ยงเดี่ยวจะก้าวร้าวมาก ไม่ควรจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่นจนเกินไป)

ปลาเคยเลี้ยงรวมจะเข้ากันได้ดีกว่าปลาเลี้ยงเดี่ยว?: ใช่ครับ ปลาเคยเลี้ยงรวมมาแล้วจะเข้าใจระบบสังคมได้ดีกว่าปลาที่ไม่เคยเข้าสังคมมาก่อน พฤติกรรมหลักๆที่สังเกตได้คือ ปลาเดี่ยวที่ลงไปร่วมกับปลารวมที่มีอยู่แล้ว ในช่วงแรกหลังจากผ่านไป 1 คืนก็จะผ่านการ?รับน้อง?คือ ตัวใหม่จะไปลองกัดกับตัวโน้นตัวนี้ไปทั่ว พยายามหวงพื้นที่ที่ตัวเองอยู่(ไม่ใช่ทุกตัวมารุมตัวใหม่ทีเดียวนะครับ แต่มักจะเป็นตัวใหม่ที่ไปหาเรื่องตัวนั้นทีตัวนี้ที และถ้าเข้าไปในโซนจ่าฝูงก็จะทะเลาะกับเจ้าของพื้นที่ ) ซึ่งเช้ามาก็จะมีแผลให้เห็นพอสมควร หนักบ้างเบาบ้างก็ว่ากันไป (หางแหว่ง ชายน้ำแตก เหงือกแหว่งเป็นต้น) แต่รับรองว่าไม่เหลือสภาพความเนียนเหมือนตอนเลี้ยงเดี่ยวแน่ๆ พฤติกรรมนี้อาจมีต่อไปอีก 2-5 วัน จนกว่าเจ้าตัวใหม่จะเรียนรู้ระบบและสามารถหล่อหลอมนิสัยเข้ากับฝูงที่มีอยู่ได้

ขั้นตอนการลงปลาเลี้ยงรวม

หลังจากเลือกกลุ่มปลาที่จะลงได้แล้ว เตรียมตู้-น้ำพร้อมแล้ว (น้ำตู้ใหม่และตู้เก่าควรมีค่าใกล้เคียงกันโดยเฉพาะ อุณหภูมิและค่าPH เพื่อย่นระยะเวลาการปรับน้ำลง) ก็มาถึงขั้นตอนการลงปลา ซึ่งควรจะลงในระยะเวลาใกล้เคียงกันในทีเดียว เพื่อไม่ให้มีการทะเลาะกันหลายรอบ(รับน้อง) วิธีการลงก็คือลงเหมือนปลาเดี่ยวทั่วไปปรับสภาพน้ำให้พอเพียงก่อนปล่อยลง ปล่อยตัวใหญ่ก่อนหรือเล็กก่อนไม่สำคัญ ถามว่าต้องปิดไฟ หรือ ตีน้ำให้ขุ่น(บ่อดิน) เพื่อบดบังวิสัยทัศน์ตอนลงหรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่าไม่จำเป็น เพราะปลาลงใหม่อาจจะเครียดจนเกินไป อีกกอย่างถ้าน้ำใสเราก็สามารถสังเกตพฤติกรรมได้ในทันที อีกอย่างตู้ปลาเลี้ยงรวมนั้นควรจะมีหัวoxygenที่มากกว่าปกติสักหน่อย เพราะปลาหลายตัวย่อมใช้oxygenมากกว่ายิ่งทะเลาะกันแล้วยิ่งต้องเหนื่อยมากใช้oxygenมาก ถ้าจะดูจริงๆว่า oxygenพอไหมให้สังเกตตอนให้อาหารเสร็จใหม่ๆ ถ้าปลาหอบหลายตัวแสดงว่า oxygenในตู้เราไม่พอ หลังจากลงปลาแล้วควรคอยสังเกตเป็นระยะๆ ถ้ามีการปะทะกันมากเกินไป ก็สามารถปิดๆไฟในตู้ได้ เพราะปลาจะลดความก้าวร้าวลงทันทีแบบงงหาทางไปไม่ถูก แล้วจึงค่อยเปิดอีกทีในภายหลัง การที่ปลาจับคู่ฟัดกันเป็นระยะๆ เป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นการจับคู่กัดกันแบบสลับหัว สลับหางก็ถือว่าไม่ร้ายแรงมาก แง็บหางกันไปมาแบบชิวๆ แต่ถ้าอีกตัวยอมจนหมอบลงก้นตู้ หรือ เอาตัวอยู่นิ่งๆ แต่อีกตัวคอยพุ่งชน พุ่งกัดเรื่อยๆ ควรแยกออกมาทันที (ควรแยกตัวที่กัดออก) อาหารสามารถให้หลังจากลงปลาแล้ว 12 -24 ชั่วโมงขึ้นไปจะดีกว่าให้ในทันที เพราะลงใหม่ปลาจะตื่นเต้นสำรวจสภาพแวดล้อมใหม่มากกว่าจะห่วงกิน

การสังเกตอาการบากเจ็บปลาเลี้ยงรวม

............ชายน้ำบน-ล่างขาด หางแหว่ง เกล็ดหลุด เหงือกฉีกมีเลือดซึม เป็นเรื่องปกติ จะแยกออกมารักษาหรือไม่ดูที่ความรุนแรงของบาดแผล และอาการของปลาเป็นหลัก การใช้ยูวีตลอดจะช่วยลดอาการติดเชื้อได้มาก การลงเกลือ 0.1% ก็เช่นกัน แต่ในระยะยาวแล้วเกลือไม่เป็นผลดีกับตัวปลาสักเท่าไหร่ การแยกออกมาจะดีกว่าการใช้เกลือ ถ้าอาการของปลาหอบอยู่นิ่งๆ หลังลอย เกล็ดพอง ขับเมือก แผลติดเชื้อลุกลามรุนแรง ควรรีบแยกออกมารักษา แต่ถ้าปลาจอด หลบมุมตู้หรือก้นตู้ แต่ไม่มีอาการติดเชื้อถือเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญตอนให้อาหารก็ดูว่าเค้าออกมากินหรือไม่ ถ้ายังกินดีอยู่ก็ไม่น่าเป็นห่วง ปลาที่แยก ออกมาก็รักษาตามอาการ ปลาที่เกล็ดหลุดและเหงือกแหว่ง ถ้าแผลไม่ติดเชื้อลุกลามมากขึ้นก็ไม่ต้องแยกออกมาแต่ต้องรักษาคุณภาพน้ำให้ดี

จ่าฝูง????

..........................ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะหนึ่ง อาจจะ 2-3 วันจนถึงสัปดาห์ ก็จะมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ความสวยงามของตู้เลี้ยงรวมต้องอันตรธานหายไป นั่นคือพฤติกรรม ?จ่าฝูง? พฤติกรรมที่ปลาตัวหนึ่งจะแสดงอำนาจและจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับมันเพียงตัวเดียว(ปกติก็ประมาณ ครึ่งตู้) จ่าฝูงสามารถเปลี่ยนตัวได้ หากมีตัวที่เก่งกว่ามาท้าประลองแล้วชนะ จ่าฝูงจะเป็น แดง มาเลย์ อินโด ไฮแบ็ค เรดบี เขียวได้หมด(อโรเงิน ไม่เคยเลี้ยงรวมเลยไม่ทราบว่า เค้ามีศักยภาพพอที่เป็นได้ไหม) จ่าฝูงจำเป็นต้องเป็นตัวผู้เสมอไปหรือไม่...อันนี้ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆคือ เค้าจะว่ายอยู่ตัวเดียว

ในบริเวณของเค้าและ ปลาที่เหลือจะไปกองอยู่อีกมุมหนึ่งของตู้ ลอยตัวเฉยๆ นิ่งๆ หมดความสง่าของตู้ไปในทันที หากมีตัวใดก็ตามที่ว่ายเข้ามาในอาณาบริเวณของจ่าฝูง มันก็จะไล่ตัวนั้นให้กระเจิงออกไป ความจริงแล้วพฤติกรรมนี้สามารถละลายได้เป็นระยะโดยการปิดไฟในตู้ให้มืดสนิท/เพิ่มความสว่างขึ้นมากๆ หรือ อาจจะปิดไฟครึ่งตู้ที่จ่าฝูงเค้าคุมให้มืดสนิท เค้าก็จะว่ายปนๆกันไป แต่สักระยะหนึ่งเมื่อเค้าเคยชินกับสภาพตู้/ไฟใหม่ เค้าก็จะมีพฤติกรรมเหมือนเดิมมีจ่าฝูงคุมพื้นที่เหมือนเดิม ฉะนั้นเมื่อจะมีคนมาเยี่ยมแล้วคุณอยากให้ตู้ปลารวมคุณดูดี ก็สามารถเตรียมได้โดยปิดไฟสักระยะ แล้วค่อยเปิดก่อนแขกจะมาถึงสัก 5-10 นาที ตู้ปลาคุณก็จะสวยเหมือนตอนลงปลาใหม่ๆ คือมีฝูงปลาว่ายไปมาดูสวยงาม(ความจริงคือ เค้ากำลังตื่นๆกับสภาพใหม่) ในบางกรณีจ่าฝูงอาจจะมีมากกว่าหนึ่ง (เช่นเดียวกับฝูงสิงโตที่บางครั้งจะมีจ่าฝูงสองตัวทำงานร่วมกัน) โดยมักจะเป็นกรณีที่ปลาสองตัวสู้กินกันไม่ลงอจจะลงเอยด้วยวิธีสองตัวว่ายไปมาในอาณาเขตโดยไม่ทำร้ายกัน แต่ถ้าตัวอื่นเข้ามาจะโดน หรือ อาณาเขตครึ่งตู้นั้นถูกแบ่งลงอีกโดยแต่ละตัวจะคุมอาณาเขตประมาณ ? ของตู้

ใยแก้ว

เปลี่ยนบ่อยแค่ไหน...................สมมุติว่าคนเลี้ยงปลาเดี่ยว เปลี่ยนใยแก้วอาทิตย์ละครั้ง แล้วคุณเลี้ยงปลารวม 7-10 ตัว ต้องเปลี่ยนใยแก้วทุกวันตามบัญญัติไตรยางค์ ใช่หรือไม่? ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ตัววัดที่แท้จริง หากแต่ความสกปรกของใยแก้วเองต่างหาก โดยมี FACTOR คือ อาหารที่ให้และกากของเสียที่สะสม เป็นตัวบ่งว่า เราควรจะเปลี่ยนได้หรือยัง ปกติผมจะเปลี่ยนทุก 2-3 วัน แต่ถ้าช่วงไหนอดอาหารนานหน่อยก็อาจจะเป็น 4 วัน ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนหลังจากให้อาหารแล้วอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพราะปลามักจะขับถ่ายหลังกินเสร็จ มีบ้างที่เปลี่ยนทุกวันตอนเลี้ยงตัวเล็กๆตู้ละ20ตัว แล้วให้อาหารทุกวันวันละ2-3ครั้ง ถ้าการเปลี่ยนใยแก้วถี่ไม่พออาการอย่างหนึ่งที่อาจสังเกตได้คือ ปลาจะมีผดขึ้นที่หางเนื่องจากคุณภาพน้ำ

อ่าน 9233 ครั้ง