scoops

การเลี้ยงดู

Mate of Dragon ตอนที่ 1 Mate of Dragon. BY TTDC

สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกๆ ท่าน วันนี้ขอทำกระทู้แบบวิชาสบการณ์ หน่อยนะครับ ... ( คือจะว่า เป็นกระทู้ทางวิชาการก็ไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่เอามาจากประสบการณ์มากกว่า เลยเป็นวิชาสบการณ์ ก็แล้วกัน ) เผื่อจะเข้าตากรรมการ ได้เลื่อนชั้นเป็นบทความ เก็บแต้มเพิ่ม จะได้ตามพี่ Butas ให้ทันซะหน่อย เห็นสีทองๆ แสบตา อยากได้มั่ง อิอิอิ

...จริงๆ ไม่ใช่หรอกครับ แค่ว่างๆ อยู่บ้านคนเดียวมันเหงาครับ เจ้าริวตะไปกรุงเทพกับแม่ อีกตั้ง 2-3 วัน กว่าจะกลับ ตอนเขาอยู่เราก็เหนือยนะครับ แต่พอไม่อยู่ก็เหงาซะงั้น

ภาพจากเว๊ปต่างประเทศนะครับ แต่ต้องขออภัยด้วยนะครับ จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหน

อย่างที่บอกไว้ด้านบนนะครับ กระทู้ตัวนี้ทำขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวซะส่วนใหญ่ คือเนื่องมาจาก จะเรียกว่ายังไงดีละครับ จะบอกว่าผมชอบเห็นปลาแบบหลากหลาย หรือจะบอกว่า ชอบให้ปลาที่เราเลี้ยงมีเพื่อน หรือจะบอกว่าชอบปลาหลายแบบ ที่สถานที่ไม่อำนวย เลยจับอะไรต่ออะไรมาใสรวมกันซะหมด อย่างนี้ได้ไหม เลยทำให้ เท่าที่ผ่านมา นอกจากปลาอโรวาน่าแล้ว ยังมีปลาอะไร ต่อมิอะไร อีกหลายชนิด ที่ผมจับมาใส่ไว้เป็นเพื่อนร่วมตู้ หรือ Tank Mate กับเจ้าอโรวาน่า(ต่อไปผมอาจจะเรียกสั่นๆว่าเมทแทนนะครับ) แต่การจะจับโยน จับโยน โดยไม่สนใจว่าจะอยู่ได้ ไม่ได้ รอดก็ช่าง ไม่รอดก็ช่าง มันก็ไม่ใช่วิสัยของผม ผมจึงต้องศึกษาข้อมูลของปลาพวกนั้นให้ดีก่อนเช่นกัน เลยทำให้พอจะมีข้อมูลการเลี้ยงรวมอยู่บ้าง ซึ่งผมเองก็เลยอยากเอามาแบ่งปันให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้อ่านกัน ผมไม่ขอใช้คำว่า แนะนำ นะครับ เพราะอย่างที่ว่า เรื่องที่จะกล่าวเป็นแนวทางของผมเอง ซึ่งอาจจะถูกก็ได้ ผิดก็ได้ จะทำแล้วดี หรือไม่ดีก็ได้ ฉะนั้น ถ้ามีข้อมูลอะไร ขาดตกบกพร่อง หรือ ผิดพลาด ผมขอให้เพื่อนๆ พี่ๆ ทุกท่าน แย้งขึ้นมาได้ทันทีนะครับ ... อดีตหัวหน้างานที่ผมนับถือท่านหนึ่ง เคยกล่าวว่า ?คนที่ไม่รู้ น่ากลัวน้อยกว่า คนที่เข้าใจผิดคิดว่าตนรู้? ?

ภาพจากเว๊ปต่างประเทศนะครับ แต่ต้องขออภัยด้วยนะครับ จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหน

เอาละครับ Introduction มาซะยาวเลย ขอเข้าเรื่องซะทีนะครับ โดยทั่วไปแล้วปลาอโรวาน่าเป็นปลาที่มักอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นหลัก และมีนิสัยการหวงถิ่นสูงมาก บางคนอาจจะใช้คำว่าดุ แต่หลายๆ คนไม่ชอบให้ใช้คำนี้ ก็เอาเป็นว่า ผมขอใช้คำว่าหวงถิ่นมาก ก็แล้วกันนะครับ ซึ่งนิสัยการหวงถิ่นนี้เองทำให้การนำมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงรวมกัน หรือรวมกับปลาชนิดอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก บางที การรวมปลาเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นความสูญเสียซะด้วยซ้ำ 1+1 ไม่เท่ากับ 2 หรือ 3 แต่อาจจะเหลือเพียง 1 หรือน้อยกว่า 1

ภาพจากเว๊ปต่างประเทศนะครับ แต่ต้องขออภัยด้วยนะครับ จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหน

โดยทั่วไปแล้ว ผมมีหลักการในการดูว่า เหมาะที่ปลาทั้งสองชนิด(หรือมากกว่า) จะสามารถอยู่รวมกันได้หรือไม่อยู่ และควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยงรวมอยู่ไม่กี่ข้อครับ นั่นคือ

1. นิสัยของปลาอโรวาน่า ข้อนี้เป็นข้อมูลที่ต้องดูเป็นอันดับแรกครับ อโรวาน่าบางตัวหวงถิ่นมาก บางตัวหวงถิ่นน้อยแต่ละตัวไม่เหมือนกัน (มีบางตัว ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ยอมให้มีเมทมาอยู่ด้วย) ข้อนี้เจ้าของปลาแต่ละคนต้องศึกษาดูปลาของตัวเองครับ แต่โดยทั่วไปแล้ว ปลาอโรวาน่าแต่ละสายพันธุ์ จะมีนิสัยหวงถิ่นมาก น้อยต่างกัน ซึ่งทั่วไประบุไว้ดังนี้ (เรียงจากมากไปน้อย)

อันดับ 1 อโรวาน่าออสเตรเลีย

อันดับ 2 อโรวาน่าแดงอินโด

อันดับ 3 อโรวาน่าทองอินโด , เขียว , ทองอ่อน

อันดับ 4 อโรวาน่าทองมาเลย์

อันดับ 5 อโรวาน่าเงิน และอโรวาน่าดำ

อันดับ 6 อโรวาน่าแอฟริกา

นอกจากนั้นแล้ว แม้แต่ปลาตัวเดียว นิสัยหวงถิ่นของมันเองก็ยังมีขึ้นๆ ลงๆ อยู่ครับ (ท่าจะเอาใจยากนะเนี้ย) เช่นปลาเล็กๆ จะไม่ค่อยมีนิสัยหวงถิ่น แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ นิสัยนี้ก็จะค่อยๆ มากขึ้น และปลาอโรวาน่าจะมีนิสัยหวงถิ่นมากเป็นพิเศษเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูผสมพันธุ์(ปกติจะอยู่ช่วงหน้าฝน) ปลาบางตัวจะแสดงให้เห็นโดยทำปากพองๆ คล้ายๆ ปลาอมไข่

ภาพปลาอมไข่ จากบทความ ?เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย? ของพี่เอ A-Light ครับ

2. นิสัยลักษณะ ของปลาเมท - ถ้าปลาเมทมีนิสัยหวงถิ่นมากเช่นเดียวกันกับอโรวาน่า เช่น ปลาตระกูลปลาหมอสี และรวมถึงปลาอโรวาน่าด้วยกันเอง โอกาสรวมกันได้ก็น้อยครับ(เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ประมาณนั้น) - ถ้าปลาเมทเป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นดิน เช่น ปลาตระกูล Catfish กระเบน นกแก้ว ฯลฯ จะมีโอกาสอยู่ด้วยกันได้มากกว่า เมทที่อยู่บริเวณกลางน้ำ อย่างแรด ออสซิรารีส ฯลฯ และเมทที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ(เหมือนอโรวาน่า) เช่น เสือพ่นน้ำ อโรวาน่า ฯลฯ มีโอกาสอยู่ร่วมกันได้น้อยที่สุด(บางท่านอาจจะบอกว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย)

- ปลาที่มีความเร็วสูง (หนีเร็ว) อย่างเช่น ปลาตระกูลตะเพียน จะมีโอาสอยู่ร่วมกันได้มากกว่าปลาที่ช้า

- ปลาทรงแบน อย่างเช่นปลาเทวดา หรือปอมปาดัวย์ ปลาอโรวาน่าจะสนใจน้อยกว่าปลาทรงกว้างออกข้าง อย่างตัวผม ลงบ่ออโรไปอาจโดนกัดตายได้ครับ อิอิอิ

- ปลาที่มีขนาดเล็กกว่าปากปลาอโรวาน่า หรือปลาที่มีโอกาสโตไม่ทันปลาอโรวาน่า เช่น กุ้ง ปลาเพาะ ปลาตระกูลปลาซิว ปลาน้ำผึ้ง ข้อนี้ต้องระวังให้มาก เพราะเมทอาจจะกลายเป็นอาหารแทนได้

3. ลักษณะ และขนาดของที่เลี้ยง (ตู้ หรือบ่อ) โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งที่กว้างมากโอกาสการอยู่ด้วยกันได้ก็ยิ่งมากตามไปด้วยครับ สถานที่เลี้ยงกว้างมาก ก็ลดโอกาสพบเจอได้มากขึ้น มีที่ให้เมทหลบมากก็ลดโอกาสโดนเล่นงานได้มาก ... แต่ถ้ามากเกินไป เราอาจจะหาปลาที่เราเลี้ยงไว้ดูยากขึ้นด้วยนะครับ คือ มันจะเอาแต่ซ่อนอย่างเดียวเลยละครับ

4. จำนวนของเมท คือ ยิ่งมาก ก็ยิ่งมีโอกาสรอดสูง ประมาณว่า มีหลายตัว ก็แชร์ๆ กันโดน ตัวละนิด ตัวละหน่อย อะไรประมาณนั้นละครับ ถ้าลงตัวเดียว ก็โดนอยู่ตัวเดียว โอกาสรอดก็น้อยลง ปกติ เวลาปล่อยปลาเมท ผมจะลงทีละ 2-3 ตัวเป็นอย่างต่ำครับ โอกสรอดมีสูงกว่า ... แต่ อีกนั่นละ การลงปลาไปพร้อมกันทีละหลายๆ ตัวก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ถ้าปลาที่ลงใหม่มีของเสียมากอาจจะทำให้ระบบกรองมีปัญหาได้ ต้องไม่ลืมมองจุดนี้ด้วยนะครับ

ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลาเมทร่วมกับโรวาน่า

1. ควรให้อาหารให้เพียงพอ เพราะถ้าปลาหิว จะก้าวร้าวมากกว่าปกติแยะครับ

2. การเลี้ยงปลารวมด้วยกันหลายๆ ตัว ควรควบคู่กันกับการมีระบบกรองที่ดี การดูแลรักษาระบบกรองที่ดีครับ ปลาจำนวนมาก อาหารมาก ของเสียมาก ระบบกรองต้องดีพอครับ

3. อย่าลืมเปลี่ยนน้ำให้เพียงพอ และดูแลคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอด้วย

4. การเลี้ยงปลารวม ต้องทำใจเรื่องสภาพปลาด้วยครับ โดยเฉพาะปลาที่เป็นลูกไล่ โอกาสที่จะสวยสมบูรณ์ เป็นไปได้ยากครับ เรื่องครีบแตก เกล็ดหลุดเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปเลยครับ

5. ถ้าเป็นไปได้ควรมี UV System ติดตู้ไว้เผื่อฉุกเฉินด้วยนะครับ หลอด UV ช่วยลดปัญหาแผลติดเชื้อได้ดีทีเดียวครับ

6. ควรดูแลปลาอย่างใกล้ชิด และอย่าเผลอนอนใจเด็ดขาด อโรวาน่าบางตัวนิสัยไม่ค่อยคงเส้นคงวาครับ ตอนเล็กๆ อยู่ด้วยกันได้ แต่พอโตแล้วอาจจะซัดกันหนักก็ได้ หรือ อยู่ด้วยกันดีๆ มาวันหนึ่ง เกิดกัดกันจนเจ็บหนักก็มีเหมือนกัน บางทีถ้าไม่แยกตัวที่เจ็บออกมาดูแล อาจจะถึงชีวิตได้ครับ

เอาละครับ วันนี้ขอแค่นี้กันก่อนนะครับ อาจจะไม่ค่อยมีข้อมูลทางวิชาการอะไรมากนัก หากเกิดข้อผิดพลาดสำหรับข้อมูล และข้อความที่นำเสนอลงไป ก็ขออภัยมาไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะครับ ตอนหน้าจะพูดถึง ชนิดของปลาเมทบ้างครับ แต่จะเป็นปลาอะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://www.arohouse.com/wbs/?action=view&id=000001395

 

อ่าน 23134 ครั้ง