scoops

ตู้ปลา ปั๊มน้ำ อุปกรณ์การเลี้ยง

ฤกษ์งามยามดี นาย ttdc ล้างกรอง

สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกๆ คน เท่าที่จำได้ ดูเหมือนการล้างวัสดุกรองในระบบกรองของผมเมื่อครั้งล่าสุด ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ไม่นานนี้เอง แป๊บๆ เดือนนี้ก็เข้าเดือนตุลาคมกันแล้ว ไวยังกะโกหก ปกติแล้วผมได้ทำการล้างระบบกรอง ล้างวัสดุกรอง ทุกๆ 6 เดือนครับ วันนี้ฤกษ์ดี ไม่มีใครอยู่บ้าน เจ้าตัวเล็กก็ไม่อยู่กวน ก็เลยถือเอาฤกษ์นี้ ล้างระบบกรองเอาซะเลย เริ่มด้วยเป้าหมายครับ เป็นระบบกรองของตู้ 2 ใบครับ 60*24*24 และ 57*24*21 ระบบกรองทำจากอ่างขนาด 100 ลิตร ลักษณะการทำงานเหมือนกรองถังครับ(อ่างสีส้มที่อยู่ด้านซ้ายมือนะครับ) เอาเป็นว่า ผมจะเรียกว่าถังก็แล้วกันนะครับ ถ้าเรียกอ่าง เดียวจะมีใครคิดมาก อิอิอิ

เป้าหมายแรก ตู้ของเจ้ามีทองครับ 60*24*24 ภาพ before

เป้าหมายที่สอง ตู้ของเจ้าอู่จี้ 57*24*21 ภาพ before

มาดูอุปกรณ์ที่จะต้องใช้กันบ้างนะครับ 1. ท่อยาง 2. กะละมังใส่น้า เอาไว้ล้างวัสดุกรองครับ 3. ถังน้ำ ผมเอาไว้ขนวัสดุกรองออกมาล้างครับ 4. เก้าอี้ ไว้นั่งแก้เมื่อย 5. ปั้มน้ำตัวเล็ก สำหรับทำกาลักน้ำ 6. เก้าอี้สูง หรือบรรได สำหรับปีนขึ้นไปเก็บและวางวัสดุกรองจากถังกรองที่อยู่สูงๆ ครับ

นอกจากนั้น ถ้าเป็นไปได้ให้ติดยาดมเอาไว้ซัก หลอด สองหลอด ด้วยนะครับ (อู่จี้ : นี่ไม่หลอดสองหลอดแล้ว มันยกลังเลยมั้งนั่นนะ )

เผื่อปีน ขึ้นๆ ลงๆ แล้วหน้ามืดจะได้สูดซักนิดหน่อย จะได้ดีขึ้นครับ(อู่จี้ : หลอดขนาดนี้ ไม่ดีขึ้น ก็ตายเลยนะนั้นนะ )

แหมเพื่อนๆ พี่ๆ ชวนผมออกนอกเรื่องไปซะไกลเลย เอาละ กลับมาเข้าทำงานของเราต่อดีกว่าครับ (อู่จี้ : ใครไปชวกแก -*- )

อันดับแรก ตามหลักการที่ว่า การล้างวัสดุกรองโดยไม่ทำให้ระบบกรองล่ม ควรใช้น้ำจากในตู้ปลามาล้าง ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมน้ำซะก่อนครับ เริ่แรก ผมต้องเปิดฝาตู้ขึ้นก่อนครับ แกะแอดโดมิไนซ์เซอร์ รุ่น เราสู้ 384 ออกก่อนครับ (สำหรับบางท่านติดไว้แยะ อาจจะต้องใช้ความพยายามกันหน่อยนะครับ)

จากนั้นผมใช้วิธีทำกาลักน้ำจากตู้ปลาออกมาใสกะละมังไว้ครับ การทำกาลักน้ำของผม ผมไม่ใช้วิธีการดูด แต่ผมเริ่มจากใช้ปั้มน้ำตัวเล็ก เป่าน้ำเข้าท่อยาง ให้ไหลไปลงกะละมังครับ เมื่อน้ำในท่อเป็นกาลักน้ำแล้ว ก็ปิดปั้มได้ครับ

แนะนำว่าควรเลือกใช้ปั้มที่มีคุณภาพนิดนึงนะครับ เพราะเราต้องเอามือจุ่มลงไปในน้ำพร้อมกับมัน เท่าที่เจอมา ปั้มโนเนมบางตัวมีไฟรั่วนะครับ

อีกข้อที่ต้องระวังในขั้นตอนนี้ คือเรื่องตำแหน่งของฮีตเตอร์ครับ การนำน้ำออกจากตู้ปลาอาจจะทำให้ระดับน้ำในตู้ต่ำลงจนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำของฮีตเตอร์ได้ เมื่อไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงแก้วที่ครอบฮีตเตอร์อยู่อาจจะร้อนจัดจนอาจจะแตกได้นะครับ

ใครใช้ฮีตเตอร์รุ่นนี้เหมือนผมอยู่(คนที่ใช้คงดูออกว่าเป็นยี่ห้อไหนนะครับ ขอไม่เอยถึงก็แล้วกัน เดียวจะหาว่าโฆษณา) ระดับน้ำของฮีตเตอร์รุ่นนี้อยู่ที่ตำแหน่งหมายเลข 4 นะครับ ระวังด้วยนะครับ ส่วนรุ่นอื่นๆ ก็ลองสังเกตดูครับ ส่วนใหญ่จะมีขีดระดับน้ำให้เห็นด้วยเช่นกัน

เมื่อระบบกาลักน้ำทำงานแล้ว ก็รอครับ

รอให้น้ำเต็มกะละมังที่เตรียมเอาไว้ (ผมดูดน้ำออกมา 3 กะละมัง)

เมื่อเรามีน้ำที่จะล้างวัสดุกรองพร้อมแล้ว เราก็ทำการขนเอาวัสดุกรองออกมาล้างได้ครับ นับจากขั้นตอนนี้จนเสร็จ เราอาจจะต้องเร่ง speed กันหน่อยนะครับ เพราะยิ่งทำช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้โอกาสที่แบคทีเรียในวัสดุกรองตายมากจนระบบกรองจะล่มก็ยิ่งมากขึ้นครับ ก่อนอื่นอย่าลืมปิดปั้มน้ำก่อนด้วยนะครับ จากนั้นขนวัสดุกรองออกมา ผมเริ่มปิดปั้มเจ้ามีทองตอน 21.05 ครับ

ซากอารยะธรรม อายุ 6 เดือนครับ

กลัวจะไม่โสพอ แถมอีกรูปนะครับ วัสดุกรองที่พึ่งเอาออกมาจากถังกรอง

จากนั้นก็เอามาไว้เตรียมล้างครับ

เมื่อเอาวัสดุกรองออกมาหมดแล้วให้ทำการล้างถังกรองซะด้วยนะครับ โดยผมใช้วิธีปิดวาล์วน้ำดีที่ถังกรอง เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกจากถัง จากนั้นเปิดน้ำเข้าถังกรองครับ แล้วค่อยใช้ท่อยางดูดน้ำ ฝุ่น ขี้ปลา และเศษซากอารยะธรรมอื่นๆ ออกมาพร้อมกัน

จากภาพ ไม่ได้ใช้สลิง ไม่ได้ใช้สแตนอิน ... เฮ้ย ไม่ใช่ จา พนม นะ คือไม่ได้แต่งสีช่วยนะครับ น้ำสีอย่างนี้จริงๆ เห็นแล้วนึกถึงกาแฟดำ ...

บางขั้นตอนอาจจะไม่มีรูปประกอบนะครับ เพราะผมทำคนเดียว ทำเอง ถ่ายเอง(ไม่ใช่คลิปนะพี่น้องครับ) เลยทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหยิบกล้องมาถ่ายรูปในระหว่างทำงานครับ

วิธีการล้างวัสดุกรอง ผมไม่ได้เอาออกมาจากถุงผ้านะครับ ผมล้างมันไปทั้งถุงเลย โดยการเขย่าถุงวัสดุกรองลงในน้ำภายในกะละมัง จนเศษดิน เศษขี้ปลาที่ติดอยู่ที่ถุงออกหมด แล้วก็เอาขึ้นมาครับ การล้างวัสดุกรอง ถ้าล้างสะอาดมากเกินไป อาจจะเป็นผลเสีย มากกว่าผลดีครับ คือ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนพื้นผิววัสดุกรองจะหลุดออกไปด้วยครับ ... เมื่อล้างวัสดุกรองเสร็จแล้วก็นำกลับขึ้นไปจัดวางบนถังกรองครับ ถุงเล็กๆ อย่างนี้จัดยากครับ แต่ต้องวางให้ดี อย่าให้มีบายพาสได้ครับ

จัดจนเต็มแล้ว ก็วางตระกร้าใส่ใยกรองได้เลยครับ จากรูป ขออธิบายนิดหน่อยนะครับ วัสดุที่อยู่บนใยกรองในตะกร้า ไม่ได้มีผลทางการเป็นวัสดุกรองนะครับ เพียงแค่เป็นวัสดุที่เหลือๆ ไม่ได้ใช้ในบ้าน เลยเอามาใส่เพื่อลดเสียงน้ำเท่านั้นครับ

จากนั้น เปิดน้ำได้เลยครับ ขั้นตอนนี้อย่าลืมเปิดวาล์วที่ปิดเอาไว้ตอนล้างถังกรองด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้น มีน้ำท่วมบ้านได้ง่ายๆ ครับ (ผมละลืมอย่างบ่อยเลยละครับ รู้ตัวอีกที ? : P )

หลังจากเปิดระบบกรองทำงานปกติแล้วครับ ระดับน้ำลดลงไประดับหนึ่งครับ แต่ผมคงไม่เติมน้ำเข้าไปเพิ่มนะครับ รอให้น้ำจากระบบ Overflow ปล่อยน้ำเข้าไปเองดีกว่าครับ เสร็จเวลาประมาณ 21.45 ครับ ใช้เวลาไปประมาณ 40 นาที เกินเวลาที่คิดเอาไว้นิดหน่อยครับ (คิดว่าท่าจะดี ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง) ที่ช้าเพราะถังกรองตู้ใบนี้สูงมากครับ ต้องหิ่วถังวัสดุกรอง ไต่บันไดสูงปีนขึ้นๆ ลงๆ หลายรอบกว่าจะเสร็จ เล่นซะเหนื่อยเลย ดีที่ไม่ตกลงมาคอหักไปซะก่อน

จากนั้นก็ต่อด้วยตู้เจ้าอู่จี้นะครับ แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียดอะไรมาก เพราะวิธีการก็คงเหมือนเดิน จะต่างหน่อยก็คือ ถังกรองของตู้เจ้าอู่จี้ไม่ได้อยู่สูง จึงยกวัสดุกรองออกมาง่ายๆ และถุงใส่วัสดุกรองของตู้ใบนี้ก็เป็นถุงใหญ่(ถุงใส่ผ้าใช้กับเครื่องซักผ้า) ยกไม่กี่ทีก็หมดครับ ล้างเสร็จ ก็ยกคืนถังกรอง จัดเข้าไปง่ายกว่ากันแยะเลย ปิดปั้มตู้นี้ตอน 22.00 เสร็จตอน 22.25 เร็วและเหนื่อยน้อยกว่าตู้เจ้ามีทองแยะเลย ติดอยู่อย่างเดียว ตรงปลั๊กไฟนี่ละครับ มันใกล้ถังกลองเหลือเกิน ยกวัสดุกรองออกมา น้ำหยดโครกๆ (หยดแรงครับ ไม่ติ๋งๆ แล้ว) กลัวมันจะช๊อตเอาซะเหลือเกิน ทำไปนึกถึงภาพตัวเองลงข่าวหน้าหนึ่งไปครับ อยู่บ้านคนเดียวด้วย ใครจะมาช่วยตูได้ละเนี้ยยยยย help me pleaseeeeeeeee T__T

จากรูปปลั๊กไฟ ดูแล้วพอสู้ของพี่รักสาวเสือแดงได้ไหมครับ รูปถังกรองตกเฟรมไปนิดนะครับ อยู่ฝั่งขวามือครับ

เสร็จแล้วครับ ระดับน้ำลดลงแยะเลย คงต้องใช้เวลา 2-3 วัน กว่าระดับน้ำกลับมาเป็นปกติ แต่ก็ถือว่าทุกอย่างออกมาตามแผนที่กำหนดเอาไว้ ไม่มีใครต้องเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ อิอิอิ ^__^ วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ เพื่อนๆ พี่ๆ สามารถตำหนิ ติ เตือน วิจารณ์ สิ่งใดผิด สิ่งไหนควรแก้ไขได้ตามสะดวกนะครับ แล้วไว้มาลุ้นกันใหม่ ตอนล้างระบบกรองครั้งต่อไป อีก 6 เดือนข้างหน้านะครับ สวัสดีครับ

ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://www.arohouse.com/wbs/?action=view&id=000001405

อ่าน 26956 ครั้ง