scoops
เยี่ยมบ้าน ฟาร์มปลาสวยงาม
Arohouse เยี่ยมฟาร์มกระเบน (วิทย์ ชุมแสง)
Arohouse เยี่ยมฟาร์มกระเบน (วิทย์ ชุมแสง)
สวัสดีครับเพื่อนผู้เลี้ยงปลาสวยงามทุกท่าน วันนี้มีโอกาสดีครับที่ผมจะได้พาเพื่อนๆ ร่วมเดินทางไปชมฟาร์มปลากระเบนของคนไทยซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งนอกจากเรื่องของธุรกิจส่วนหนึ่งแล้ว การที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ เทคนิคดีๆ จากผู้ที่มีความรู้อย่างแท้จริง พร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจทั่วไป จะเป็นพื้นฐานที่มีประโยชน์มากครับสำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามต่อไปในอนาคต ครั้งนี้ผมขอพาเพื่อนไปชมกันครับ
เมื่อได้ยินสรรพคุณที่คนในวงการเขาว่ากันแล้ว อีกทั้งมีเพื่อนในกลุ่มของผมรู้จักกันเป็นการส่วนตัว จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยครับที่จะขออนุญาตเข้าชมฟาร์ม หลังจากที่นัดวันเรียบร้อยแล้วแล้ว เราก็เตรียมตัวเดินทางกัน แน่นอนครับว่า จาก ร้อยเอ็ด ไป นครสวรรค์ ไม่ใกล้เลย น่าจะมี 450 กิโลเมตรครับ เดินทางออกจากบ้าน ตี 4 ไปถึงชุมแสงประมาณ 10 โมงเช้า เพราะต้องเดินทางข้ามเขาถึง 2 ลูก อีกทั้งเส้นทางไม่คุ้นเคยมากนักครับ
ก่อนเข้าชม แวะชิมก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟแสนอร่อยครับ
ณ. บ้านพูลสุข หรือที่เรารู้จักกันบ้านพี่วิทย์ ชุมแสง ผมเห็นชายคนหนึ่งถอดเสื้อกำลังเปลี่ยนน้ำปลากระเบนในบ่ออย่างขมีขมัน
คิดว่าอืม ลูกน้องที่นี่ช่างขยันขันแข็งจริงๆ
เอ่ยปากถามว่าพี่วิทย์อยู่ไหมครับ ผมนี่ล่ะครับ วิทย์ โอวหน้าแตกเลย
สุดท้ายทักทายกันเรียบร้อยด้วยความที่สนิทสนมกันคุ้นเคยกัน
เพราะมากับเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทกับแก ผมก็เลยพลอยได้อนิสงค์ไปด้วย
ทำ
เองเลยหรือครับ ใช่ครับแกตอบ การดูแลปลานั้น ควรที่จะดูแลด้วยตนเอง
แกดูแลปลาอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มทำฟาร์มใหม่ๆ สมัยนั้น Motoro
เพิ่งเข้ามาในบ้านเรา ที่นี่เป็นที่แรกเลยครับที่ทำการเพาะพันธ์ได้
พี่วิทย์ ชุมแสง แกชื่อวิทย์นะครับ ส่วนชื่อชุมแสงเป็นชื่ออำเภอหนึ่งครับในจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนใหญ่เห็นแต่ฟาร์มกระเบนดังมักมีชื่ออำเภอต่อท้ายชื่อเล่นเสมอ ไม่แน่ครับอนาคตอาจมี ฉัตร เมืองเกินร้อย บอม ม.ขอนแก่น หรือ เจ ชุมแพก็ได้ 5555 ซึ่งในวงการกระเบนน้อยคนที่ไม่รู้จัก วิทย์ ชุมแสง ครับ
ถ้าจะบอกว่าใครคือผู้นำทางด้านปลาประเบน Crossbreed ที่สวยๆ แล้วย่อมต้องมีพี่แกติด Top 10 ด้วยเป็นแน่แท้ครับ สายพันธ์ SP ชื่อเสียงเช่น red pearl ,Spider ฯลฯ สำหรับสายพันธ์ดั่งเดิมพี่ วิทย์ก็สามารถเพาะพันธ์ได้เช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็น Polka dot , Pearl Ray ,Tiger Ray, Apple ไซส์ยักษ์ๆ ก็ทำสำเร็จมาแล้ว ยังไม่รวม สายพันธ์อื่นๆอีกมากครับ เรียกว่าไปดูกันเองดีกว่า
ลักษณะบ่อค่อนข้างยาว มีหลายขนาดตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไป ส่วนความกว้างก็ประมาณ 4 เมตร ขึ้นไปครับ โดยเฉลี่ยแล้วผมคิดว่า ปลากระเบน ขนาดใหญ่ๆนี่ 1 ตัวต่อ 2 ตารางเมตรได้ครับ โครงสร้างเป็นหลังคาทึบยกสูง ลมโกรกได้สบายๆ แสงแดดส่องด้านข้างเวลา เช้า-บ่าย ครับ
แทบไม่น่าเชื่อว่า ระบบกรองที่นี่แทบไม่มีอะไรเลยครับ ที่เห็นก็มีใยแก้วดักตะกอนสารแขวนลอย หินพัมมิสบ้าง หรือ กระทั่งก้อนซีเมนต์บล็อก ตรงนี้ต้องเรียนก่อนนะครับว่า วัสดุกรองดังกล่าวนี้ผ่านการทำความสะอาดและการใช้งานมานานแล้ว อีกทั้งยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนปริมาณของน้ำทั้งหมดในบ่อ ดังที่ทราบกันนะครับว่าปลากระเบนนั้น มักไม่ค่อยชอบน้ำเก่าหรือน้ำที่มีไนเตรท NO-3 สะสมมากนั่นเอง
พี่วิทย์บอกพวกเราว่าการเปลี่ยนน้ำในปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลากระเบนนี่ สำคัญมากครับ ปลาจะโตไว สมบูรณ์แข็งแรงได้ดี การเปลี่ยนน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของปลา อายุปลา นั้นมีความสำคัญมากครับ เท่าที่ผมสังเกตดูน่าจะมีการเปลี่ยนน้ำกันทุกวันเลย คุณภาพน้ำที่น้ำมาเปลี่ยนต้องมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ปราศจากคลอรีน ครับ
เรื่องอาหารปลากระเบนมีหลากหลายชนิด ตามท้องถิ่น ในบางฟาร์มนั้น ผมเห็นมีทั้งปลาตัวเล็กๆและกุ้งครับ แต่ที่นี่นั้นเน้นเรื่องกุ้งฝอยเป็นหลักครับ ในปลาเล็กอาจต้องให้กุ้งฝอยเด็ดหัว และบี้ให้เละนิดหน่อยจะทำให้ปลากินได้ง่ายขึ้น เมื่อโตแล้วจึงสามารถให้กุ้งฝอยเป็นตัวๆได้เลย
เรื่องโรคและการรักษาก็เช่นกันครับ ตอนที่เราไปเยี่ยมพี่วิทย์ ชุมแสงครั้งแรกนั้น เราเห็นตู้รักษาปลาและตู้อนุบาลอยู่เต็มไปหมดครับ ทุกตู้ที่เห็นมี Heater ควบคุมอุณหภูมิให้คงที่อยู่เสมอ การรักษาปลากระเบนนั้นพี่วิทย์จะดูตามอาการป่วยของปลาและใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยทุกครั้งครับ จึงเห็นได้ว่าน้ำที่รักษาปลาบางตู้มีสีแดง บางตู้สีเหลือง ขึ้นอยู่กับตัวยาที่ใส่ครับ
หลังจากที่เราได้ซักถามข้อมูลการเลี้ยง ตามประสาคนที่ไม่มีความรู้เรื่องปลากระเบนเท่าใดนัก เราก็กลับเข้ามาคุยเรื่องของธุรกิจของปลากระเบนในบ้านเราครับว่า อนาคตสดใสหรือกำลังจะถดถอย
สิ่งที่พี่วิทย์เป็นห่วงก็คือเรื่องของสายพันธ์และการพัฒนาสายพันธ์ครับ ในวงการคนเลี้ยงกระเบนหรือฟาร์มใหญ่นั้นเน้นเรื่องคุณภาพของปลาอยู่แล้วครับ และมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่เราส่งปลากระเบนของเราไปต่างประเทศ เรียกได้ว่าปลาที่เกิดในบ้านของเรานั้นมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าประเทศหลักที่ส่งออก ตรงนี้สามารถนำเงินเข้าประเทศไทยได้มากครับ
พี่วิทย์บอกว่ามีไม่น้อยครับ ที่พ่อค้าบางคนกลับทำลายความน่าเชื่อถือในวงการกระเบนสวยงาม นำปลาผิดสายพันธ์มาขายทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างครับ ตรงนี้พ่อค้าหรือผู้เพาะพันธ์ควรมีจิตสำนึก และมีความซื่อสัตย์ เป็นที่ตั้งครับ ซึ่งในวงการกระเบนบ้านเรานั้น ต้องยอมรับว่ายังต้องพัฒนาไปอีกมากครับ
ก่อนจากกัน เราก็ได้เห็นวิธีการจับปลากระเบน Polkadot ตัวใหญ่ถึง 3 ตัว ซึ่งผมได้แต่อึ้งครับ เพราะเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกว่าเขาจับปลากระเบนใหญ่ๆกันแบบนี้ เรียกได้ว่าจับปลามังกรกับปลากระเบนนั้น คนละเรื่องเลย วันนี้ลาไปก่อนครับ